About Our App

แอพพลิเคชั่น SUANDOK SOUND THERAPY (SST)

แอพพลิเคชั่น Suandok Sound Therapy (SST) เป็นนวัตกรรมเครื่องมือบำบัดอารมณ์และความรู้สึก ผ่านการใช้องค์ประกอบของเสียงและดนตรีในรูปแบบต่างๆ กัน และคลื่นเสียงพิเศษ ได้แก่ binaural beats (BB), isochronic tones (IT), superimposed binaural beats (SBB), high frequency soundwaves (HF), autonomous sensory meridian response (ASMR), เสียงซ่า (noises), เสียงธรรมชาติ (natural sounds; NS), เสียงชีพจร (heartbeats; HB), เสียงดนตรี (music) และเสียงพูด (voices) ที่สามารถกระตุ้นจิตใจและอารมณ์ได้หลากหลายตามทฤษฎีดนตรีบำบัด โดยผู้ใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถปรับผสมเสียงได้ตามต้องการใน advanced settings ปรับความดังเบา และตั้งเวลาเล่นคลื่นเสียงได้ นอกจากนั้นยังสามารถใช้การสะกดจิตด้วยภาพเคลื่อนไหว (visualization) ร่วมด้วย

แอพพลิเคชั่นนี้สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ขาดสมาธิ ง่วงนอน สับสน นอนไม่หลับ หรือผู้ที่ต้องการเสียงเพื่อฝึกหายใจทำสมาธิ หรือต้องการออกกำลังกาย

ข้อควรระวัง
ผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก ผู้ที่มีโรคหัวใจรุนแรง หรือผู้ที่มีโรคจิตเภทที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการรับประทานยา ไม่ควรใช้คลื่นเสียงบำบัด BB, SBB และ IT เพราะอาจจะกระตุ้นให้อาการกำเริบได้

ทฤษฎี สมมติฐานและแนวความคิดของการใช้คลื่นเสียงบำบัด

โดยปกติ คลื่นสมองของมนุษย์ อยู่ในรูปความถี่แบบผสม  ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงความถี่ได้แก่ คลื่นเบต้า (beta wave) คลื่นอัลฟา (alpha wave) คลื่นธีต้า (theta wave) และคลื่นเดลต้า (delta wave) ซึ่งคลื่นเหล่านี้จะปรากฏในสมองเมื่อมีการทำงานที่แตกต่างกัน มีงานวิจัยพบว่าคลื่นอัลฟามีความสัมพันธ์กับความรู้สึกปวดของมนุษย์กล่าวคือ ในเวลาที่มนุษย์มีอาการปวด จะตรวจพบคลื่นอัลฟามีปริมาณน้อยลงหรือมีขนาดเล็กลง  นอกจากนี้ยังมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันการเพิ่มคลื่นสมองอัลฟาได้จากการเหนี่ยวนำคลื่นสมองด้วยคลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงกับคลื่นอัลฟา และมีงานวิจัยที่นำการเหนี่ยวนำคลื่นสมอง (brainwave entrainment) ด้วยคลื่นอัลฟาไปใช้ลดปวดในผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารได้อย่างนัยสำคัญ

การเหนี่ยวนำคลื่นสมอง (brainwave entrainment) หมายถึง การใช้คลื่นที่มีความถี่จำเพาะในการกระตุ้นสมอง เพื่อให้เกิดการเหนี่ยวนำของคลื่นสมองตามคลื่นที่กระตุ้นนั้น คลื่นที่ใช้อาจเป็นคลื่นแสงหรือคลื่นเสียง (ที่นิยมใช้ในงานวิจัยต่างๆ ได้แก่ isochronic tones, monaural beats และ binaural beats) หรือใช้ทั้งสองอย่าง (audiovisual stimulation) ในงานวิจัยส่วนใหญ่จะเลือกใช้คลื่นเสียง binaural beats ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่เกิดจากการนำคลื่นเสียงตัวนำ (carrier sounds) 2 เสียงที่มีความถี่ต่างกันไม่มากแยกเข้ากระตุ้นหูแต่ละข้างและนำผ่านกระโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการแทรกสอดในสมองและเกิดการเหนี่ยวนำคลื่นสมองเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองในบริเวณต่างๆ

ประวัติการศึกษาเกี่ยวกับคลื่น binaural beats

การศึกษาเกี่ยวกับ binaural beats เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1839 โดยนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ชื่อ Heinrich Wilhelm Dove โดย Binaural beats เป็นเสียงความถี่ต่ำซึ่งเกิดจากการแทรกสอดของเสียงตัวนำ (Carrier sounds) 2 เสียงที่มีความถี่ต่างกันไม่มาก กระตุ้นสมองผ่านการฟังและการนำคลื่นเสียงผ่านกะโหลกศีรษะ ถ้าความถี่ของเสียงที่ได้ยินโดยหูข้างซ้ายหรือนำผ่านกระโหลกศีรษะเท่ากับ 305 Hz แต่ข้างขวาเท่ากับ 295 Hz จะได้ binaural beats ที่เกิดจากการแทรกสอดในสมองเท่ากับ 305 – 295 Hz ซึ่งจะเท่ากับ 10 Hz (ดังรูป)

รายละเอียดเสียงบำบัดประเภทต่างๆ

About Suandok Sound Therapy (SST) Application

Binaural beats (BB)

คลื่นเสียง binaural beats ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่เกิดจากการนำคลื่นเสียงตัวนำ (carrier sounds) 2 เสียงที่มีความถี่คงที่และแตกต่างกันไม่มาก มาแยกเข้ากระตุ้นหูแต่ละข้างหรือนำผ่านกระโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการแทรกสอดในสมองและเกิดการเหนี่ยวนำคลื่นสมองเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองในบริเวณต่างๆ การบำบัดด้วยคลื่นเสียง binaural beats จะได้ผลดีที่สุดเมื่อฟังผ่านหูฟังแบบ stereo มักใช้คลื่นเสียงนี้กระตุ้นสมาธิ บำบัดความเครียด ความวิตกกังวล และช่วยการนอนหลับ

Isochronic tones (IT)

คลื่นเสียง isochronic tones เป็นคลื่นเสียงผสมที่จำลองการแทรกสอดของคลื่นเสียงที่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย คลื่นเสียงนี้จะมีคาบเวลาการเปลี่ยนแปลง amplitude เหมือนกันทั้ง 2 ข้าง สามารถใช้บำบัดได้โดยไม่ต้องใส่หูฟังแบบ stereo เหมือน binaural beats มีคุณสมบัติในการบำบัดใกล้เคียง binaural beats

Superimposed binaural beats (SBB)

คลื่นไบนอรัลบีทแบบซ้อนทับ (superimposed binaural beats) เป็นคลื่นเสียงที่เกิดจากการสังเคราะห์เสียงแบบใหม่โดย รศ.นพ.จักรกริช กล้าผจญ เป็นผู้คิดค้น โดยใช้กลไกแตกต่างจากวิธีการสังเคราะห์แบบดั้งเดิม กล่าวคือ ใช้ความแตกต่างของคลื่นเสียงในทุกช่วงความถี่ของเสียงเครื่องดนตรีระหว่างหู 2 ข้าง เพื่อสร้าง binaural beat แทนที่การใช้เสียงความถี่คงที่ จึงเป็นนับเป็นวิธีการใหม่ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า เมื่อฟังติดต่อกัน 20 นาที สามารถลดความวิตกกังวลได้ดีกว่าการฟัง binaural beats แบบดั้งเดิม

High frequency soundwaves (HF)

เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่สูง นิยมใช้ในการบดบังสัญญาณเสียงสูง (high frequency sound masking) และใช้บำบัดอาการหูอื้อ หรือภาวะเสียงในหู (tinnitus)

Autonomous sensory meridian response (ASMR)

เสียง ASMR เป็นเสียงที่ใช้กระตุ้นการตอบสนองต่อระบบประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ ลักษณะของเสียงจะมีความชัดและแหลมคม มีการย้ายความเข้มข้นของเสียงจากหูซ้ายไปขวาไปมา เลียนแบบเสียงที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงพูด เสียงกระซิบ เสียงบรรยากาศรอบตัว เสียงจับอุปกรณ์ เสียงเคาะ ฯลฯ เสียงเหล่านี้สามารถกระตุ้นความรู้สึกจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ตอบสนองได้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล และมีงานวิจัยรองรับในเรื่องของการช่วยเหนี่ยวนำการนอนหลับ

เสียงชีพจร (Heartbeats; HB)

เสียงชีพจรเป็นหนึ่งในเสียงที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ เนื่องจากเป็นเสียงที่เราได้ยินตั้งแต่ในครรภ์มารดา เสียงชีพจรที่มีความเร็วแตกต่างกันสามารถกระตุ้นความรู้สึกได้ตั้งแต่ ความผ่อนคลายจนถึงสร้างความสับสนกระวนกระวาย

เสียงซ่า (Noises)

Noise คือคลื่นเสียงที่รวมทุกย่านความถี่ มักใช้ในการทำ sound masking (การซ่อนเสียง) ในการเช็คเสียงสำหรับการแสดงดนตรี หรือนำมาใช้บำบัดอาการในมิติของ psychoacoustics เสียง noise ในแอพพลิเคชั่น Suandok sound therapy จะมี 3 แบบ ได้แก่

7.1 White noise (WN) (อุปมาเหมือนแสงสีขาวถ้าเป็นแสง เนื่องจากมีความเข้มข้นเท่ากันทุกช่วงความถี่) เป็นคลื่นเสียงแบบสุ่มซึ่งคลุมสเปกตรัมความถี่ที่ยินได้ทั้งหมด ด้วยความเข้มเท่าๆ กันในทุกช่วงความถี่ เสียงนี้จะคล้ายเสียง static ของวิทยุหรือโทรทัศน์ เรามักใช้เสียง white noise กลบเสียงที่น่ารำคาญอื่นๆ ในขณะนอนหลับหรือขณะกำลังใช้สมาธิ เพราะสมองจะขาดสมาธิถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระดับเสียงที่เข้ามากระทบอย่างรวดเร็ว การใช้เสียง noise แบบต่อเนื่องหรือมีการเปลี่ยนแปลงความดังช้าๆ จึงช่วยบดบังการกระตุ้นจากเสียงแวดล้อมได้ นอกจากนั้นยังนิยมใช้บำบัดอาการเสียงในหู (tinnitus) ได้ดี

7.2 Pink noise (PN) (อุปมาเหมือนแสงชมพู เนื่องจากที่ช่วงความถี่ต่ำจะมีความเข้มสูง) จะมี power spectrum density แปรผกผันกับความถี่ครับ (พูดง่ายๆ คือมีค่าความเข้มลดลงตามลำดับตามช่วงความถี่ที่สูงขึ้น) ลักษณะเสียงจะคล้ายน้ำตกที่กำลังไหลซู่ หรือลมที่กำลังพัดผ่านต้นไม้ นิยมใช้เสียง pink noise ในการปรับสภาวะแวดล้อมเพื่อบดบังเสียงที่ไม่ต้องการเช่นเดียวกับ white noise แต่จะมีความนุ่มหรือน่าฟังมากกว่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยว่า pink noise แบบช่วงๆ ที่เปิดให้เข้าหูขณะหลับลึก สามารถช่วยเพิ่มความจำในกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความจำเสื่อม

7.3 Brown noise (BN) (ย่อจาก Brownian noise หรือ red noise) จะมีความเข้มของเสียงที่มีความถี่สูง ต่ำกว่า pink noise มักใช้กระตุ้นให้เกิดความผ่อนคลาย เพิ่มสมาธิ ลักษณะเสียงจะทุ้มมากที่สุดในกลุ่ม noise ทั้ง 3 แบบนี้

เสียงธรรมชาติ (natural sounds; NS)

เสียงธรรมชาติเป็นเสียงที่เปลี่ยนแปลงอารมณ์และความรู้สึกของผู้ฟังได้ในหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ฟัง โดยทั่วๆไปมักใช้เสียงธรรมชาติที่มีลักษณะต่อเนื่อง และความถี่แบบสุ่ม เช่นเสียงน้ำตก เสียงคลื่นกระทบฝั่ง เสียงฝนตก มากระตุ้นเพื่อบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล สร้างสมาธิ และช่วยในการนอนหลับ เสียงจิ้งหรีดช่วยในสร้างบรรยากาศยามค่ำคืนและช่วยการนอนหลับ ส่วนเสียงนกหรือเสียงสัตว์อื่นๆ ที่ดังเป็นช่วงๆ แบบสุ่มและมีคาบเวลาไม่สม่ำเสมอมักจะใช้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว ความสดใสมีชีวิตชีวา และเสียงน้ำไหลที่มีความสม่ำเสมอของการเปลี่ยนแปลงความถี่และความดังในคาบเวลาหนึ่งๆ จะช่วยสร้างสมาธิ และทำสมาธิ เป็นต้น

เสียงดนตรี (Music)

องค์ประกอบของดนตรีที่ใช้ในบำบัดฟื้นฟู บรรเทาอาการต่างๆ และเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมของมนุษย์ ได้แก่

9.1 ทำนอง (Melody) ทำนอง หมายถึง กลุ่มของเสียงที่แสดงอัตลักษณ์ทางดนตรี ที่เรียบเรียงจากความคิดสร้างสรรค์ หรือจากแรงบันดาลใจหรือแรงขับของนักแต่งเพลง ทำนองในคีย์ minor มักใช้สร้างอารมณ์เศร้าหรือความสบายใจ ทำนองในคีย์ major ใช้เพิ่มความสนุกสนาน ความฮึกเหิม หรือลดอาการซึมเศร้า

9.2 เนื้อเสียง (Tone or Timbre) เนื้อเสียง หมายถึง ลักษณะเฉพาะของเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุต่างชนิดกันโดยการดีด สี ตี เป่า หรือการเขย่าวัตถุต่างๆ เช่น เสียงไวโอลิน เสียงเปียโน เสียงกลอง ฯลฯ เสียงจากเครื่องเคาะมักกระตุ้นความตื่นตัว ส่วนเครื่องสายมักใช้ในการลดความเครียด หรือสร้างอารมณ์อย่างต่อเนื่องได้ตามระยะเวลาของเสียงที่ต่อเนื่องนั้นๆ

9.3 ระดับของเสียง (Pitch) ระดับสูงหรือต่ำของเสียงขึ้นอยู่กับความถี่ของรอบในการสั่นสะเทือนของวัตถุ หากรอบการสั่นสะเทือนมากจะทำให้เกิดระดับเสียงสูง มักใช้เสียงสูงในการกระตุ้นความตื่นตัว เพิ่มช่วงความสนใจ และใช้ระดับเสียงต่ำในการทำให้สงบลงหรือผ่อนคลาย

9.4 ความดังหรือความเข้มของเสียง (Volume or Intensity) ความดังหรือความเข้มจะขึ้นกับความหนักเบาของเสียง ซึ่งแปรผันตามความแรงหรือความเบาของการสั่นสะเทือน เรามักใช้เสียงดังเมื่อต้องการดึงความสนใจ สร้างความตื่นตัว และใช้เสียงเบาเมื่อต้องการสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย

9.5 จังหวะหรือลีลา (Rhythm) ลีลา หมายถึง ความสั้นยาวของเสียงที่ทำให้เกิดท่วงทำนอง สามารถสะท้อนความรู้สึกหลากหลาย จังหวะมักหมายความรวมถึงจังหวะของเครื่องดนตรีประเภทตีหรือเคาะ จังหวะหรือลีลาที่คงที่ทำให้เกิดความคุ้นชินต่อระบบประสาท และไม่เกิดการกระตุ้นเท่ากับจังหวะหรือลีลาที่ไม่คงที่ การใช้ลีลาแบบไม่คงที่จะช่วยดึงความสนใจและกระตุ้นการตอบสนองต่อร่างกาย

9.6 ความเร็วของทำนอง (Tempo) ความเร็วในการบรรเลงดนตรีในเพลงหนึ่งอาจมีได้หลายความเร็ว การใช้ทำนองที่เร็วมากๆ ช่วยกระตุ้นและสร้างอารมณ์ตื่นตัว ส่วนทำนองที่ช้ามักใช้สร้างความผ่อนคลาย ลดความเครียด และช่วยการนอนหลับ

9.7 การประสานเสียง (Harmony) การประสานเสียงเป็นการผสมผสานของท่วงทำนองและเสียงในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดแนวเพลงต่างๆ ที่สร้างอารมณ์ร่วมได้แตกต่างกัน การใช้การประสานเสียงแบบ jazz จะช่วยเพิ่มความรับรู้ของเสียง ช่วยเปลี่ยนอารมณ์ การใช้การคอร์ดแบบ diminished จะสร้างความรู้สึกกลัวและวิตกกังวล หรือการใช้คอร์ดแบบ augmented มักทำให้เกิดความรู้สึกสงสัย เป็นต้น

เสียงพูด (Voices)

แอพพลิเคชั่นนี้จะมีเสียงพูดอยู่ 4 แบบ ที่สามารถจะใช้ผสมกับเสียงหรือดนตรี ได้แก่

10.1 เสียงสั่งจิตใต้สำนึก (Subliminal messages; SM) สารที่ส่งไปให้จิตใต้สำนึกรับรู้จะเป็นภาพหรือเสียงก็ได้โดยจิตระดับสำนึกจะรับรู้ได้ยากเนื่องจากมีช่วงเวลาของการปรากฏสั้น หรือถูกบดบังด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เสียงพูดที่อยู่ในแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดผลต่างๆ ในระดับจิตใต้สำนึกและจิตสำนึก

10.2 เสียงพูดสะกดจิต (Hypnotic suggestions; HS) เสียงพูดสะกดจิตสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและส่งผลต่อร่างกายได้ ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับคลื่นเสียงที่จำเพาะสามารถใช้สะกดจิตตัวเอง (self hypnosis) เสียงพูดสะกดจิตเป็นได้ทั้งเสียงคนปกติพูดกัน เสียงพูดที่มีระดับเสียงเดียวกันตลอด หรือเสียงกระซิบ

10.3 เสียงสวดมนต์ (Chanting) เสียงสวดมนต์จะมีลักษณะเฉพาะของการใช้ระดับเสียงซึ่งจะแตกต่างกันในศาสนาต่างๆ หรือภาษาต่างๆ เสียงสวดมนต์เป็นคำพูดที่เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ได้ และส่วนใหญ่มักจะใช้ระดับเสียงไม่เกินสองระดับ ในพุทธศาสนา การสวดมนต์เป็นวิธีหนึ่งในการทำสมาธิ

10.4 เสียงกำหนดลมหายใจหรือกระตุ้นการออกกำลังกาย (Guiding voices; GV) การใช้เสียงพูดนำฝึกการหายใจหรือกระตุ้นการออกกำลังกาย ร่วมกับดนตรีหรือเสียงประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสม จะช่วยทำให้เพิ่มความทนทานในการออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มพลังในการออกแรงกล้ามเนื้อ และช่วยเพิ่มสมาธิในการออกกำลังกายหรือการฝึกหายใจ

ในการเลือกเสียงดนตรีหรือเพลงเพื่อบำบัด จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้ และควรเลือกเสียงเพลงที่เข้ากับอารมณ์ในช่วงแรก แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนองค์ประกอบของดนตรีให้นำไปสู่ภาวะหรืออารมณ์ที่ต้องการในช่วงหลัง ตามหลักการของ Iso principle ของดนตรีบำบัด

นอกจากการใช้คลื่นเสียงและดนตรีในการบำบัดแล้ว แอพพลิเคชั่น SST ยังใช้รูปแบบของภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอเพื่อช่วยกระตุ้น (visualization) โดยสามารถใช้เหนี่ยวนำในขั้นตอนการสะกดจิตตนเองหรือการทำสมาธิ ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกออกมาผ่านจิตใต้สำนึก ช่วยปรับการรับรู้ผ่านอายตนะทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส สร้างความรู้สึกเคารพตัวเอง และช่วยฝึกการหายใจบำบัดความเครียด สร้างสมาธิหรือลดความดันโลหิตหรือปรับการตอบสนองทางร่างกายในแบบต่างๆ รวมทั้งฝึกจิตใจเพื่อแก้พฤติกรรมด้านลบ